...ยินดีต้อนรับท่านสู่...ความรู้เรื่องโรคสัตว์แปลกถิ่น...ภายใต้การบริหารจัดการ..ของ...นายมนัส ชุมทอง...ปศุสัตว์อำเภอพรหมคีรี...จังหวัดนครศรีธรรมราช..

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

“กาฬโรคปอด” มฤตยูดำ

ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก ... สุภาษิตนี้ คงใช้ได้ดีกับสถานการณ์สุขภาพของคนไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพราะไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดรุกรานชาวโลกอย่างเราไปง่าย ๆ ไหนจะโรคชิคุนกุนยา ที่ระบาดมาให้หนักใจ ไม่เพียงเท่านี้ ยังรวมถึงโรคเก่าที่ยังไม่สร่างซาไปไหน อย่างมฤตยูดำ “กาฬโรคปอด” ที่กำลังระบาดอยู่ที่แผ่นดินจีน
พอข่าวโรคนี้กระจายออกมา ก็ทำให้บ้านเรา ร้อน ๆ หนาว ๆ กันอีกรอบ เพราะนอกจากจะต้องหาวิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้ว ยังต้องมาจับตามองเจ้าตัวจิ๋ว อย่าง “หนู” พาหะนำโรคกาฬโรคว่าจะพกพาเจ้าหมัดตัวเชื้อโรคติดตัวมาด้วย ว่าแต่!!เจ้าโรค “กาฬโรคปอด” คืออะไรกันนะ ไปทำความรู้จักกับมันกันดีกว่า
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นพ.โอภาส การ์ย กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาให้ความรู้ว่า โรคกาฬโรคปอดนั้น เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เยอซิเนีย เพสทิส (Yersinia Pestis) มีลักษณะเป็นแท่ง และแอบแฝงอยู่ในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ เพราะจะทำให้เชื้อเข้าสู่เยื่อในปากได้ง่าย เช่น หนู กระรอก กระต่าย กระแต แมว และสุนัข มีพาหะที่สำคัญ คือ “หมัดหนู” มีขนาดเล็กไม่กี่มิลลิเมตร สามารถ กระโดดได้ไกลถึง 1 เมตร หรือ 200 เท่าของขนาดตัวของมันเอง


โดยเจ้าเชื้อไวรัสตัวนี้ จะติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ 2 ทาง คือ ทางมูลหมัด เชื้อแบคทีเรียที่ถูกถ่ายออกมาพร้อมกับมูลของหมัดอาจเข้าสู่ร่างกายของคนทางบาดแผลได้ และหมัดกัด เมื่อหมัดไปกัดสัตว์ฟันแทะต่าง ๆ เช่น กัดหนูที่มีเชื้อโรคก็จะทำให้เชื้อแบคทีเรียเพิ่มจำนวนในตัวหมัดอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดการอุดตันและหากหมัดไปกัดคนเพื่อดูดเลือดอีกก็จะทำให้กลืนเลือดไม่เข้าจึงต้องคายหรือสำรอกเลือดที่ผสมเชื้อแบคทีเรียออกมาเข้าสู่บาดแผลของคนที่มันกำลังดูดเลือดอยู่ จึงทำให้เชื้อโรคเข้าสู่คนได้ 2 ทางหลัก ๆ ได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือด
นอกจากกาฬโรคปอดจะติดต่อจากสัตว์สู่คนแล้ว ยังสามารถติดต่อได้จากคนสู่คนโดยวิธีการติดต่อเหมือนกับโรคปอดหรือไข้หวัดใหญ่ คือ หลังจากที่เชื้อเข้าปอดคนหนึ่งแล้วจะสามารถติดต่อไปสู่อีกคนหนึ่งได้จากทางเดินหายใจด้วยการไอหรือจาม หรือจากสิ่งของปนเปื้อนเชื้อโรคใหม่ ๆ แต่จะแตกต่างกันตรงที่กาฬโรคปอดติดต่อได้ยากกว่า เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงมากถ้าไม่เสียชีวิตทันทีก็จะต้องนอนพักรักษาตัวที่บ้านหรือโรงพยาบาลไม่มีโอกาสไปคลุกคลีกับผู้อื่นหรือออกไปเดินนอกบ้านเพื่อแพร่เชื้อ ไปสู่ผู้อื่นได้ ส่วนกลุ่มเสี่ยงคือบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดหรือบุคคลที่อยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยขณะติดเชื้อ เช่น พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง
“เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-7 วัน จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการด้วยการมีไข้ ตามด้วยต่อมน้ำเหลืองโตและแตก เชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือด โดยเฉพาะจะไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดบวมและเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมง การรักษาสามารถใช้ยาปฏิชีวนะที่มีอยู่แล้วในโรงพยาบาลต่างๆรักษาได้ หากเทียบกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 กาฬโรคจะติดต่อยากกว่าแต่มีความรุนแรงของโรคสูงกว่ามาก อัตราป่วยตายสูงถึง 30-60%” นพ.โอภาส กล่าว
เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับ “เชื้อกาฬโรค” ก็พบว่า เป็นโรคระบาดจากสัตว์สู่คนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและยังเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคน ในอดีตมีการระบาดใหญ่ของเชื้อร้ายเกิดขึ้น 3 ครั้ง...
การระบาดครั้งที่ 1 ในคริสตวรรษที่ 6 เรียกการระบาดครั้งนั้นว่า Plague of justinian การระบาดเริ่มจากประเทศอียิปต์ไปสู่ทวีปยุโรป โดยเฉพาะที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ที่มีคนตายถึงวันละหมื่นคน และเชื้อโรคร้ายนี้ก็ระบาดติดต่อ กันเป็นระยะเวลาประมาณ 50 ปี ส่งผลให้มีคนตายหลายล้านคน!!
การระบาดครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในคริสตวรรษที่ 14 เรียกการระบาดครั้งนั้นว่า “The Black Death” โดยเริ่มต้นจากตอนใต้ของประเทศอินเดียและจีนผ่านประเทศอียิปต์เข้าสู่ประเทศยุโรป มีการระบาดในอิตาลีเมื่อปี พ.ศ. 1889 เรียกว่า "Great Mortality" และมีการระบาดเป็นระยะตลอดคริสตวรรษที่ 15 16 17 ในปี พ.ศ.2208 เกิดการระบาดใหญ่ที่กรุงลอนดอน มีคนตายเป็นจำนวน 60,000 คน จากประชากร 450,000 คน เรียกว่า "The Great Plague of London" การระบาดในยุโรป ครั้งนั้นมีประชากรมากถึง 25 ล้านคน ที่ต้องสังเวยชีวิตให้โรคนี้
การระบาดครั้งที่ 3 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลกปี พ.ศ. 2439 มีการระบาดเข้าสู่สิงค์โปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ ฮาไวอี อาระเบีย เปอร์เซีย เตอร์กี อียิปต์ และแอฟริกาตะวันตก เข้ารัสเชีย และในทวีปยุโรป เข้าสู่อเมริกาเหนือ และเม็กซิโกมีรายงานระหว่างปี พ.ศ. 2443-2444 ในภาคตะวันออกของจีน มีคนตายประมาณ 60,000 คน ปี พ.ศ. 2453-2454 ที่แมนจูเลียมีคนตายประมาณ 10,000 คน ต่อมามีรายงานการระบาดที่รัฐแคลิฟอเนียและประเทศรัสเซีย
สำหรับในประเทศไทย เชื้อนรกได้อาละวาด ล้างผลาญชีวิตผู้คนไม่แพ้ที่อื่น โดยนายแพทย์เอช แคมเบล ไฮเอ็ด เจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล ( Principal Medical Officer of Bangkok City) ได้รายงานการพบ กาฬโรค ครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2447 เกิดขึ้นที่บริเวณตึกแดงและตึกขาว เป็นโกดังเก็บสินค้า จังหวัดธนบุรี พื้นที่บริเวณนั้น เป็นที่อยู่ของพ่อค้าชาวอินเดียหลังจากนั้น เชื้อโรคได้ลุกลามอย่างรวดเร็วข้ามฟากมาฝั่งพระนคร และกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ที่มีการติดต่อค้าขายกับกรุงเทพฯ โดยทางบก ทางเรือและทางรถไฟ
ส่วนการบำบัดเชื้อกาฬโรค ทางการแพทย์จะให้ ผู้ป่วยกาฬโรคแยกห้อง เพื่อมิให้เชื้อแพร่กระจาย ซึ่งยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษากาฬโรคได้แก่ 1.สเตรปโตมัยซิน 2.คลอแรมเฟนิคอล 3.เตตราซัยคลีน 4.โคไตรม็อกซาโซล บุคลากรที่ทำการรักษาผู้ป่วย ต้องมีความ ระมัดระวังอย่างยิ่งยวด ต้องสวมถุงมือ ปิดปาก จมูก และต้องทำลายเชื้อจากเลือด น้ำเหลืองและหนองของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อ
ด้าน นพ.สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้แนะนำการป้องกันตัวให้พ้นจากเชื้อร้ายนี้ว่า ประชาชนต้องดูแลสุขาภิบาลในบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ไม่ให้รกรุงรัง กำจัดหนู กำจัดหมัด กำจัดที่ซ่อน หรือแหล่งอาหารของหนู เพื่อป้องกันหนูที่เป็นพาหะที่สำคัญของโรคนี้และโรคอื่นๆ มาแอบแฝงตัวอยู่ในบ้าน
นอกจาก “หนู” จะเป็นพาหะของโรคกาฬโรคปอดแล้ว ก็ยังเป็นพาหะนำโรคร้ายอย่าง “ฉี่หนู” ที่มักจะแวะมาสวัสดีคนไทยอยู่ทุกหน้าฝน…ถึงแม้เจ้าโรคนี้จะชื่อจิ๋ว ๆ ว่า “ฉี่หนู” แต่ขอบอกเลยว่าพิษสงนั้นไม่ได้จิ๋วตามชื่อเลยแม้แต่น้อย เพราะเวลาที่มันแผลงฤทธิ์ ก็อาจทำให้คนตัวโต ๆ อย่างเราเสียชีวิต ๆ ได้เช่นกัน!!...ว่าแต่มันทำยังไงนะ ถึงคร่าชีวิตคนได้ ไปดูกันเลยค่ะ
เจ้าฉี่หนู มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โรคเลปโตสไปโรซิส” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “โรคเลปโต” โดยโรคนี้เกิดจากเจ้าเชื้อโรคที่ชื่อว่า Genus leptospiva ที่อาศัยอยู่ในสัตว์ต่าง ๆ อาทิ สุนัข หมู ควาย แต่สัตว์ที่เจ้าเชื้อโรคตัวนี้รักที่สุด เห็นจะเป็น เจ้าตัวจิ๋วอย่าง หนู ที่ชอบร้อง จี๊ด จี๊ด จี๊ด ให้เรารำคาญใจนั่นเอง...
หนูบ้าน หนูนา หนูพุก ถือเป็นพาหะนำโรคตัวสำคัญ โดยเชื้อจะฝังตัวอยู่ที่ไตของหนู แต่มักไม่ทำให้หนูป่วย เมื่อหนูที่มีเชื้อโรคอยู่ในตัวทำการปัสสาวะ เชื้อร้ายจะออกมากับปัสสาวะของหนู แล้วปนเปื้อนอยู่ตามทุ่งนา แม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง น้ำตก หรือพื้นดินที่ชื้นแฉะ ถ้าอุณหภูมิปานกลาง น้ำมีความเป็นกรด ด่างปานกลางมีร่มเงาบังแสงแดดเชื้อก็สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้นานเป็นเดือน อันที่จริงสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น สุนัข โค กระบือ สุกร ฯลฯ ถ้าอยู่ในที่ที่มีหนูชุกชุม ก็อาจติดเชื้อนี้ได้ และมักจะแสดงอาการป่วย หรือแท้งลูก และเชื้อก็ถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะสัตว์เหล่านี้เหมือนกัน
หากสงสัยว่าป่วยเป็นโรคฉี่หนู ก็ให้ลองสังเกตดูว่า มีอาการเหล่านี้หรือเปล่า อาการของโรคนี้ในระยะแรก ๆ อาจจะคล้ายโรคติดเชื้ออื่น ๆ อีกหลายโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะมาก ปวดกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยโรคนี้มักปวดที่น่อง โคนขา หรือ ปวดหลัง บางคนอาจมีตาแดง ซึ่งจะเป็นอาการเฉพาะของโรคนี้ เนื่องจากเลือดออกใต้เยื่อบุตาขาว หรือเส้นเลือดที่ตาขยายเป็นตาข่าย ถ้าใครมีอาการที่กล่าวมา หลังจากไปแช่น้ำ ย่ำโคลนมา 2-26 วัน ควรนึกถึงโรคนี้ ที่สำคัญไม่ควรหายามากินเอง ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล และต้องได้รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมภายใน 4วัน ก็จะป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการไตอักเสบ ไตวาย ตับวาย หรือเลือดออกที่ปอด และลำไส้ ซึ่งจะทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น และอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ป้องกันไว้ก่อนจะดีกว่า วิธีการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ คือต้องหลีกเลี่ยงไม่ไปแช่น้ำย่ำดินโคลนนาน ๆ โดยเฉพาะถ้ามีแผลตามแขนขามือเท้า ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องปกปิดไม่ให้ร่างกายสัมผัสน้ำ เช่น ใส่รองเท้าบู๊ทยางสูงเหนือระดับน้ำ สวมถุงมือยาง ใช้พลาสเตอร์ปิดแผล และต้องหมั่นล้างชำระร่างกายหลังย่ำน้ำก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง
แต่!!วิธีป้องกันที่ดีที่สุด ก็คือ ต้องควบคุมปริมาณสัตว์นำโรคไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป เพราะคู่หนูสามีภรรยา 1 คู่ สามารถแพร่ลูกหลานได้มากถึง 1,000 ตัว ภายใน 1ปี เลยทีเดียว!! .....
ดังนั้น ประชาชนทุกคนควรหมั่นดูแลสภาพแวดล้อมให้สะอาด เก็บกวาดขยะทิ้งให้มิดชิดไม่ให้เป็นอาหารของหนู หมั่นถากถางหญ้าตามคันนาไม่ให้รก เพราะจะเป็นที่ให้หนูหลบซ่อนจากศัตรูในธรรมชาติจากพวกนกและงู ทำคันนาให้เล็กเท่าที่พอเดินได้ เพราะคันนาที่ใหญ่ จะเป็นที่ให้หนูพุกนามาขุดรูทำรังแพร่ลูกหลาน และแพร่โรคไข้ฉี่หนูมาถึงคนได้…..............................
ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ เตือนประชาชนติดตามการระบาดของโรคกาฬโรคปอดในจีนอย่างใกล้ชิด ชี้ ผู้ต้องเดินทางควรระวัง เพราะร้ายแรงยิ่งกว่าโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ถึง 5 เท่า มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 60
ศาสตราจารย์นายแพย์อมร ลีลารัศมี นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวเตือนประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่จะเดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันเมื่อต้องอยู่ในที่แออัด มีคนจำนวนมาก เพราะอาจติดเชื้อโรคกาฬโรคปอดที่กำลังพบการระบาดอยู่ในทางภาคตะวันตกของจีนอยู่ในขณะนี้
โดยโรคดังกล่าวร้ายแรงยิ่งกว่าโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ถึง 5 เท่า มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 60 ขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีอัตราการเสียชีวิตไม่ถึงร้อยละ 2 โดยเชื้อแบคทีเรียของกาฬโรคปอดจะตรงเข้าทำลายปอดทันทีโดยไม่แสดงอาการอื่นซึ่งผู้ที่เป็นโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ อาทิ โรคปอด ถุงลมโป่งพองและหอบหืด มีโอกาสเสียชีวิตทันทีใน 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามเบื้องต้นคาดว่าการเข้ามาระบาดของโรคดังกล่าวในไทยเป็นไปได้ยาก เนื่องจากแพร่ระบาดได้น้อยเพราะทันทีที่ติดเชื้อผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและทรุดขนาดไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ จึงมีโอกาสน้อยที่จะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น สำหรับการแพร่ระบาดของกาฬโรคปอดนั้นแพร่ในรูปแบบเดียวกับไข้หวัด ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ไอ เช่นเดียวกับไข้หวัดทั่วไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีทางป้องกัน

โรคเวสท์ไนล์


โรคเวสท์ไนล์ จัดเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อ West Nile virus (WNV) ในตระกูล Flaviridae และต้องการแมลงเป็นพาหะในการแพร่เชื้อ (Arboviruses) เช่นเดียวกับเชื้อ Japanese Encephalitis complex, St. Louis encephalitis virus, Murray Valley encephalitis virus, Kunjin virus และ Japanese B encephalitis virus เชื้อ WNV สามารถติดต่อโดยยุง และมีนกเป็นตัวกักโรค โรคนี้สามารถติดต่อสู่สัตว์หลายชนิด รวมทั้งมนุษย์ ในมนุษย์ส่วนมากไม่ค่อยแสดงอาการ แต่บางครั้งอาจพบการเสียชีวิตได้ ปัจจุบันพบรายงานการระบาดของโรคเวสท์ไนล์ในหลายประเทศทั่วโลก แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ที่จะพบการระบาดของโรคเวสท์ไนล์ เนื่องจากการอพยพของนกจากประเทศที่มีรายงานการระบาดมาสู่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศไทย ดังนั้นประเทศไทยควรให้ความสำคัญ และเตรียมกลยุทธ์ทั้งในเชิงรุก และเชิงรับ ต่อโรคเวสท์ไนล์ รวมทั้งโรคอุบัติใหม่อื่น ๆ
การติดต่อของเชื้อ WNV
เส้นทางหลักในการติดเชื้อ WNV ของมนุษย์ คือ การติดผ่านทางการกัดของยุงที่มีเชื้อไวรัสอยู่ ยุงได้รับเชื้อไวรัสจากการดูดเลือดนกที่ติดเชื้อ WNV โดยไวรัสจะอยู่ในเลือดของยุง 1-4 วัน จากนั้นเชื้อจะเข้าสู่ต่อมน้ำลายของยุง ดังนั้นขณะที่ยุงกัดไวรัสก็จะเข้าสู่มนุษย์และสัตว์และการเพิ่มจำนวนภายในร่างกายคนและสัตว์บริเวณต่อมน้ำเหลือง ซึ่งนำไปสู่อาการป่วยตามมา (CDC, 2003)

โรคอุบัติใหม่” ผลพวงจาก “ภาวะโลกร้อน

ที่มา www.manager.co.th วันที่ 19 มิถุนายน 2551
ท่ามกลางความปรวนแปรของธรรมชาติ อันเนื่องมาจาก “ปัญหาโลกร้อน” นี้เองที่เป็นเหมือนการปลุกให้คนทั้งโลกตื่นตัว เตรียมการรับมือกับเรื่องดังกล่าว...

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่แดนมังกร มาพร้อมกับ พิบัติภัยพายุนาร์กีสในพม่า พิสูจน์ให้เห็นถึงความเสียหายที่ประจักษ์แก่สายตาคนทั้งโลกว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป...
เมื่อธรรมชาติเกิดความเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่า ทุกสิ่งบนโลกนี้ย่อมได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ จะมากหรือน้อยสุดแล้วแต่ ทำให้ล่าสุดกองทัพเรือ จับมือกับ ม.ธรรมศาสตร์-ม.เกษตรฯ - ม.มหิดล ร่วมกันถกในเรื่องของ วิกฤตและโอกาสจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งประเด็นที่น่าติดตามอย่างยิ่ง คือ “ผลของภาวะโลกร้อนต่อการเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่” เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามด้วยประการทั้งปวงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย...
** พาหะแพร่เชื้อข้ามเผ่าพันธุ์ เหตุวิบัติโรคภัย
สำหรับความกระจ่างในประเด็นดังกล่าวนั้น ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงที่มาที่ไปว่า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เรื่องที่น่ากังวล คือ อาจมีโรคติดเชื้อแปลกๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนการดำรงชีวิตของสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคร้ายทั้งหลายก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เช่น เมื่อเกิดน้ำท่วมสัตว์บางชนิดก็จะออกมาสัมผัสกับคนหรือสัตว์ชนิดอื่น ทำให้มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้ ซึ่งตามธรรมชาตินั้นจะไม่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ การแพร่เชื้อข้ามสายพันธุ์ข้ามสปีชีส์นี้ สิ่งที่ตามมาคือ เชื้อจะมีความรุนแรงขึ้น หากมองจากไข้หวัดนกที่ส่วนใหญ่เชื้อนี้จะพบอยู่ในสัตว์จำพวกนกเป็ดน้ำ ห่านป่า ความรุนแรงของการก่อโรคก็จะไม่มาก แต่เมื่อมีการติดเชื้อเพิ่มเข้ามาในไก่ เป็ด นก ที่เลี้ยงไว้ ความรุนแรงก็จะสูงขึ้นเนื่องจากเชื้อไวรัสไม่มีโอกาสในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะใหม่ เช่นเดียวกับ โรคซาร์ส ที่มีค้างคาวเป็นพาหะ และตามธรรมชาติค้างคาวก็จะไม่เกิดโรคอะไร แต่เมื่อไหร่ที่เชื้อดังกล่าวก่อเกิดขึ้นกับสัตว์ประเภทอื่น กระทั่งสู่คน เมื่อเชื้อเปลี่ยนสภาวะที่ยากแก่การปรับตัวทำให้เชื้อทวีความรุนแรงขึ้น และเป็นโรคใหม่ซึ่งไม่มีใครรู้จัก ไม่มีภูมิคุ้มกัน การระบาดจึงเกิดขึ้นได้ง่าย จึง เป็นที่มาของโรคอุบัติใหม่
** แหล่งอาศัยใหม่ “พาหะนำโรค” หลังเขตหนาวอุณหภูมิสูงขึ้น
ศ.นพ.ประเสริฐ อธิบายต่อว่า โรคบางชนิดจะเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอุณหภูมิสูง เช่นโรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย ที่มียุงเป็นพาหะ เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นเขตที่เคยหนาวเย็นก็อุ่นขึ้น อุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคแพร่พันธุ์และเจริญเติบโตได้ ดังเช่นโรคมาลาเรียที่มีการคาดเดากันว่าจะมีการแพร่เชื้อไปสู่เขตหนาวมากขึ้น แต่ในพื้นที่เขตร้อนอย่างประเทศไทยที่เป็นแดนระบาดอยู่ก่อนแล้วนั้น การเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ชัดเจน แต่ถ้าจะมีผลบ้างคงเป็นเรื่องของฤดูกาลระบาดที่ยาวนานขึ้น ดังนั้นจึงไม่น่าห่วงเท่าประเทศเขตหนาว
สำหรับในประเทศไทยนั้น โรคไข้หวัดนกก็ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ เพียงแต่ว่าผู้คนรู้จักมานานพอสมควร ทำให้เริ่มชิน และเริ่มมีการหาทางป้องกัน และล่าสุด มีโรคที่ระบาด และน่าจับตาอย่าง โรคมือ เท้า ปาก ที่มีสายพันธุ์ และไวรัสที่รุนแรงขึ้น ดังนั้น ทำให้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็จะมีโรคซาร์ส และไข้หวัดนก ที่ระบาดเข้ามาในไทย ทว่าโดยทฤษฎีแล้วก็จะมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ เพราะมีไวรัสอยู่ในสัตว์อีกมากมายที่ไม่รู้จัก และยังไม่ค้นพบ
“เราไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนเกี่ยวกับโรคที่อุบัติใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากโลกร้อนในประเทศเขตร้อน ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม แต่โดยสถานการณ์การเกิดโรคอุบัติใหม่ที่ผ่านมา 10-20 ปีนี้ ก็จะมีการเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ ในอนาคตก็น่าจะเกิดขึ้นได้อีกเช่นกัน แต่ผลจากโลกร้อนก็น่าจะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่ง แต่ที่น่าจะเกิดขึ้นนั้นคงจะอยู่ที่การระบาดของโรคเขตร้อนไปยังเขตหนาว ในส่วนของการรับมือนั้นบางประเทศ ที่เชื่อว่าน่าจะมีโอกาสระบาดของโรค เช่น ไข้เลือดออก ก็จะมีนักวิจัยที่เตรียมพร้อมในการพัฒนาวัคซีนด้านการป้องกันมากขึ้น โดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมทางหนึ่ง แต่สำหรับในบ้านเราโรคเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว การพัฒนาวัคซีนก็มีการวิจัยมาโดยตลอด ซึ่งมีความก้าวหน้ามาเรื่อยๆ นักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยก็ตั้งหน้าตั้งตาที่จะพิชิตโรคเหล่านี้ให้ได้” ศ.นพ.ประเสริฐ ขยายความ
** โรคอุบัติใหม่..กับการแพร่เชื้อที่ “ยากจะคาดเดา”
ในส่วนของการเพิ่มจำนวนของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคตนั้น ศ.นพ.ประเสริฐ ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา เพราะจะไม่มีทางรู้เลยว่าโรคอุบัติใหม่จะเกิดขึ้นตอนไหน จะรู้ก็ตอนที่เกิดโรคขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน วันดีคืนดีหากเกิดไวรัสตัวใหม่ขึ้นโดยไม่มีใครรู้ ก็จะเกิดขึ้นมาทันที อย่างไม่ทันป้องกัน แต่ที่เตรียมตัวกันทั่วไปคือการสร้างระบบการเฝ้าระวัง โดยในส่วนของสำนักระบาดและควบคุมโรค ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้มีการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดี หลังจากที่ต้องเผชิญกับโรคซาร์ส และ ไข้หวัดนก
หน้าที่ของระบบการเฝ้าระวังนี้นอกจากจะคอยระวังป้องกันการเกิดเชื้อแล้วนั้น ยังคอยมองหาโรคติดเชื้อแปลกใหม่ เมื่อเกิดขึ้นก็จะรู้ค่อนข้างเร็ว เพราะมีระบบการติดตาม การรายงานที่ดี เป็นสิ่งที่บ้านเราเตรียมพร้อมในการรับมือ แต่ก็ยังไม่ถึงกับพร้อม 100%
“ประชาชนควรเตรียมความพร้อมโดยการพยายามรับฟังข่าวสารการเกิดขึ้นของโรค ติดตามผลการระบาด ที่สำคัญไม่แพ้กันคือต้องคอยเป็นหูเป็นตาให้แก่เจ้าหน้าที่ หากพบการป่วย-ตาย ไม่ว่าสัตว์หรือคน ในลักษณะที่แปลกไปจากธรรมชาติ หรือไม่พบสาเหตุ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่ามีโอกาสของการเกิดโรคเหล่านี้ได้เสมอ ดังนั้น ประชาชนจึงอย่านิ่งนอนใจ ต้องรายงานให้กับโรงพยาบาล หรือแจ้งให้หน่วยงานเฝ้าระวังของ สธ.ทราบ ในส่วนของสัตว์ก็เช่นกันเพราะเมื่อสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่าตาย เราก็จะไม่ค่อยให้ความสนใจ ถ้ามีการตายที่ผิดปกติก็ควรจะแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบเช่นกัน”
มาถึงตรงนี้ ศ.นพ.ประเสริฐ ได้ฝากความมั่นใจทิ้งท้ายว่า สถานการณ์ของไทยและประเทศในภูมิภาคเดียวกันนี้ถือว่ายังไม่เข้าขั้นวิกฤตในเรื่องของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ทั้งหมดนั้นเป็นการคาดการณ์จากสภาวะอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลง แต่จากการที่โรคบางโรคอย่างไข้เลือดออกที่เริ่มแพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เรื่องของโรคติดเชื้อนั้นยากต่อการทำนายการเกิด ซึ่งแตกต่างจากการทำนายสภาพดิน ฟ้า อากาศ
ดังนั้น ในไทยเรื่องโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่มาจากโลกร้อนก็ยังไม่น่าตกใจแต่อย่างใด แต่ในแง่ของโรคอุบัติใหม่โดยรวมทั่วโลกนั้นเรื่องไม่คาดฝันก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ จึงต้องระวังอย่างถึงที่สุด

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อการเกิดโรคสัตว์สู่คนอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ

สพ.ญ. วราพร พิมพ์ประไพ
ภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนน่าวิตก ธารน้ำแข็งลดลง หิ้งน้ำแข็งพังทลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวละลาย ปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านี้เคยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในธรณีกาลแต่กลับใช้เวลาเพียงแค่ชั่วอายุคนเท่านั้น อุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกต่างๆอาทิเช่น การเปลี่ยนแปลงของวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์, การระเบิดของภูเขาไฟ แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ภาวะเรือนกระจกอันเป็นผลที่ตามมาจากการสะสมในชั้นบรรยากาศของก๊าซเรือนกระจกซึ่งเกิดจากกิจกรรมการพัฒนาของมนุษย์โดยเฉพาะการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน ภาวะเรือนกระจกได้รับการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกโดย Joseph Fourier ในปี ค.ศ. 1824 และมีการศึกษาเชิงวิเคราะห์เป็นครั้งแรกโดย Svante Arrhenius ในปี ค.ศ. 1986 ก๊าซเรือนกระจกที่ปกคลุมชั้นบรรยากาศของโลกจะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นถึง 33 องศาเซลเซียส ซึ่งในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาอุณหภูมิโลกได้เพิ่มขึ้นอีก 0.5 องศาเซลเซียส อันเป็นผลมาจากการเพิ่มปริมาณของก๊าซเรือนกระจกนี้ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์และ ก๊าซฟลูออโรคาร์บอน นำไปสู่การเกิด “ภาวะโลกร้อน” ผลเสียที่ตามมาคือ ความแห้งแล้ง อุทกภัย ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ปริมานน้ำฝนที่สูงขึ้นและการแพร่ระบาดของสัตว์พาหะนำโรค ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมทั้งในแง่ของสุขภาพและเศรษฐกิจ ภาวะโลกร้อนยังก่อให้เกิดผลกระทบที่ซับซ้อนต่อระบบนิเวศน์อาทิเช่น ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว การอพยพของสัตว์ที่ผิดเวลา ผืนป่าที่หมดสภาพ การลดจำนวนลงของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พืชบางชนิดหนีไปขึ้นในเขตที่สูงกว่าเดิม การเพิ่มขึ้นของแมลง ฯลฯ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งมีชีวิตโดยรวม โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging or new infectious disease; EID, NID) คือโรคที่เกิดขึ้นใหม่ หรือเป็นโรคที่รู้จักดีอยู่แล้วแต่เกิดการระบาดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคมาก่อน โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ (Remerging or resurgent infectious disease; RID) คือโรคที่กลับมาระบาดใหม่หลังจากที่ได้ทำการควบคุมโรคแล้ว หรือพบหลังจากที่ไม่เคยมีการระบาดในพื้นที่เดิมมาเป็นระยะเวลานานรวมถึงภาวะที่เชื้อก่อโรคดื้อยาด้วย นอกจากนึ้ทั้งโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำจะต้องเป็นโรคที่สามารถติดต่อครอบคลุมในบริเวณกว้าง แพร่ข้ามสายพันธุ์ในสัตว์ต่างๆหรือแพร่ข้ามมายังคน และต้องก่อให้เกิดความรุนแรงหรือผลกระทบในวงกว้างต่อชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งลักษณะสำคัญเฉพาะตัวของโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำจะต้องมีการทะลักล้นจากแหล่งรังโรค เช่นการทะลักล้นจากแหล่งรังโรคในสัตว์ อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อโดยตรงในคน หรือเชื้อจากแหล่งรังโรคจะฟักตัวในสัตว์อีกชนิดหนึ่งซึ่งปฏิบัติตัวเป็นแหล่งเพาะโรคจนทำให้เชื้อมีปริมาณสูงขึ้น จากนั้นตัวนำโรคจะนำเชื้อมายังคนอีกต่อหนึ่งทำให้สามารถก่อให้เกิดโรคในคนได้ และในที่สุดสามารถติดต่อจากคนสู่คนจนกระทั่งแพร่ระบาดไปทั่วโลก การเกิดโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำทั้งที่พบในคนและสัตว์ เป็นผลพวงสืบเนื่องมาจากการพัฒนาสังคมมนุษย์ โดยมีสาเหตุหลักคือจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและภาวะโลกร้อน และสาเหตุอื่นๆเช่น การขยายตัวของชุมชนเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองและสงคราม ความยากจน ภาวะทุพโภชนาการ การอพยพย้ายถิ่น การระบายน้ำ การสร้างเขื่อน และการคมนาคม เป็นต้น ตัวอย่างของโรคที่เกิดขึ้นได้แก่ Rift valley fever, Schistosomiasis, Lassa fever, Trypanosomiasis, มาเลเรียและไข้เลือดออก เป็นต้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโรคที่จัดว่าเป็นโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำที่รุนแรงเกิดขึ้นหลายชนิดซึ่งโรคเหล่านี้ทั้งหมดติดต่อจากสัตว์สู่คนและต่อมาพัฒนาเป็นการติดเชื้อจากคนสู่คน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดโรคเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การทำลายสภาพแวดล้อมอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และการบริโภคสัตว์ป่า เป็นต้น นับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนเข้าไปใกล้ชิดกับสัตว์ซึ่งเป็นทั้งแหล่งรังโรคและพาหะนำโรคมากขึ้น
โรคสัตว์สู่คนอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่ต้องเฝ้าระวังในประเทศไทย
1. กาฬโรค
2. ไข้เลือดออก
3. ฉี่หนู
4. เท้าช้าง
5. มิวรีนทัยฟัส
6. ไข้สมองอักเสบ
7. พยาธิทริคิเนลโลซิส
8. อหิวาตกโรค
9. ฮันตาไวรัส
10. ไข้หวัดนก
11. พิษสุนัขบ้า
12. วัณโรค
13. ไข้หนูกัด
14. ซาร์ส
15. มาเลเรีย
16. ไข้เลือดออกอีโบลา
การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคสัตว์สู่คนอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ การเตรียมความพร้อมเพื่อควบคุมเมื่อเกิดการระบาดและป้องกันการระบาดซ้ำของโรค จำเป็นที่จะต้องทราบสถานการณ์ปัจจุบันของโรคเพื่อนำไปสู่การประเมินความเป็นไปได้และวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคในระดับต่างๆในอนาคต 1. ต้องมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของเชื้อในแหล่งรังโรค ชนิดของสัตว์นำโรค และสภาพภูมิศาสตร์ของ บริเวณที่เป็นแหล่งเพาะโรคในพื้นที่นั้นๆ 2. ทำการประเมินและวิเคราะห์ถึงโอกาสที่จะมีการทะลักล้นของเชื้อไปสู่พื้นที่อื่น 3. ประเมินความสามารถและโอกาสของเชื้อโรคในการที่จะเกิดการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์ 4. พัฒนาและปรับปรุงระบบการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ให้สามารถตรวจจับ ประเมินรายงาน และควบคุมโรคได้ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ รวมถึงพัฒนาและปรับปรุงมาตรการการวบคุมและป้องกันโรคที่ด่านเข้าออกระหว่างประเทศ 5. เตรียมความพร้อมโดยการสร้างความรู้และความเข้าใจ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนข่าวสารและข้อมูลใหม่ๆเกี่ยวกับโรค ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรค ผลกระทบจากการระบาดของโรค ตลอดจนการควบคุมและป้องกันโรคแก่ประชาชน เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ หน่วยงานของกรมปศุสัตว์ หน่วยงานสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในการให้ความร่วมมือและประสานงานเพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันโรคในอนาคต